จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 322
บทบาทของฝ่ายตุลาการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต: การศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง[1]
การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในต่างประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูง (high-ranking officials) เป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เนื่องจากการใช้อำนาจรัฐไปในทางมิชอบแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นบ่อนทำลายผลประโยชน์ของรัฐและหลักนิติรัฐ ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญของหลายประเทศจึงกำหนดกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยแบ่งวิธีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐออกเป็นสองระบบใหญ่ ๆ คือ
ประเทศที่ใช้ได้แก่ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ระบบนี้จะใช้ควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่และการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสมของผู้นำของประเทศ คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภา โดยสมาชิกรัฐสภาจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาและลงมติถอดถอน ในประเทศอังกฤษผู้ที่มีอำนาจพิจารณา คือ สภาสามัญ (House of Lord) ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา อำนาจการลงมติถอดถอน คือ วุฒิสภา (Senator) ลักษณะของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือความประพฤติของนักการเมืองโดยการถอดถอนนั้นมีลักษณะเป็นการควบคุมทางการเมืองมากกว่าจะเป็นการดำเนินคดีอาญาทางกฎหมายอย่างระบบที่ใช้องค์กรตุลาการเป็นผู้ตรวจสอบ
- นอกจากประเทศอิตาลีจะใช้การควบคุมตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยการถอดถอนทางรัฐสภาแล้ว รัฐธรรมนูญประเทศอิตาลี ค.ศ. 1948 ได้เพิ่มบทบาทของตุลาการในการตรวจสอบการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย โดยแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในระหว่างการดำรงตำแหน่งกับกรณีที่พ้นจากการดำรงตำแหน่งแล้ว
- รัฐธรรมนูญของประเทศเนเธอร์แลนด์ ฉบับปี ค.ศ. 1814 และ 1815 รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล ที่เรียกว่า the 1827 Act on Judicial Organization มาตรา 76 (1) ได้กำหนดให้ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ต้องฟ้องต่อศาลสูงสุดของประเทศ คือ Hoge Raad ซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีครั้งแรกและครั้งสุดท้าย (Court of the first and final instance)โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ค.ศ. 1983 มาตรา 119 รับรองหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญในอดีต โดยบัญญัติให้ศาลสูงสุดทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง และได้เพิ่มตำแหน่งที่เรียกว่า State Secretaries ให้อยู่ภายใต้การดำเนินคดีต่อศาลสูงสุด และเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ที่เรียกว่า official crimes (ambtsmisdrijven) แม้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ยังสามารถดำเนินคดีได้ โดยศาลสูงสุดที่เรียกว่า Hoge Raad ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ทำหน้าที่เป็นองค์คณะพิเศษที่เรียกว่า forum privilegiatum พิจารณาคดีความผิดอาญาที่กระทำโดยนักการเมืองโดยเฉพาะ และเป็นศาลที่พิจารณาครั้งแรกและครั้งสุดท้ายโดยไม่มีการอุทธรณ์ (Court of the first and final instance)
- ประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นแบบของการตั้งศาลชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณาคดีของนักการเมืองโดยเฉพาะ นับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา โดยได้กำหนดองค์กรและกระบวนการพิเศษสำหรับพิจารณาความผิดของนักการเมือง โดยจัดตั้ง “ศาลอาญาชั้นสูง” (La Haute Cour de Jutice) ขึ้น และธรรมเนียมปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญากับประมุขของรัฐและบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายของฝรั่งเศสได้มีอิทธิพลกับสเปน อิตาลี เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ในเวลาต่อมา
บทบาทของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของนักการเมือง
ตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) อัยการสูงสุด และ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่รวบรวมและไต่สวนพยานหลักฐาน อัยการสูงสุดทำหน้าที่กลั่นกรองสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอำนาจสั่งฟ้องคดี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำหน้าที่พิจารณาพิพากษา แม้สาม องค์กรจะทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงจะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการประสานการทำงานขององค์กรทั้งสามด้วย อาทิ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องปรับปรุงพัฒนาระบบการรวบรวมและไต่สวนพยานหลักฐานอย่างรัดกุม เพียบพร้อมด้วยพยานหลักฐานอย่างสมบูรณ์ อัยการสูงสุดก็จะต้องกลั่นกรองสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างละเอียด หากมีข้อสงสัยก็ต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อพยายามมิให้เกิดกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติไม่ได้จนต้องตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเสียเวลา จากนั้นเมื่อสรุปสำนวนเรียบร้อยแล้วก็จะสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาต่อไป และหากสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีข้อบกพร่องด้านพยานหลักฐานแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่ต้องเสียเวลามากในการไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการย่อระยะเวลาในการกระบวนพิจารณาอย่างมาก สมกับความมุ่งหมายของการดำเนินคดีอาญากับนักการเมืองที่ต้องการความรวดเร็วไม่ใช้ระยะเวลานานเกินไป
บทบาทของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการปราบปรามการทุจริต
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เป็นศาลที่ตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองไทย ปี พ.ศ. 2540 โดยต้องการให้การพิจารณาคดีอาญาของนักการเมืองไม่อยู่ภายใต้ระบบกระบวนการยุติธรรมปกติทั่วไปที่ใช้กับบุคคลธรรมดา เนื่องจากนักการเมืองเป็นผู้มีอำนาจหรืออิทธิพลมาก สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ หากให้มีการดำเนินคดีอาญาในระบบปกติจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีล่าช้า เพราะต้องมีการต้อสู้คดีถึงสามศาล ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปด้วยความรวดเร็วและให้การพิจารณาคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชันหรือการใช้อำนาจโดยมิชอบได้รับการพิจารณาคดีจากองค์กรตุลาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ จึงกำหนดให้มีการตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาและพิพากษาคดีอาญาของนักการเมืองเป็นการเฉพาะ คำพิพากษาของศาลเป็นที่สุด ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการอุทธรณ์ เนื่องจากการฟ้องคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายกำหนดให้เริ่มต้นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ดังนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จึงมีฐานะเป็นทั้งศาลชั้นแรก
และชั้นสุดท้าย (court of the first and last instance) ในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ผ่อนคลายความเคร่งครัดของความเป็นที่สุดของคำพิพากษา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ไม่เปิดช่องให้
ผู้ต้องคำพิพากษาได้มีสิทธิอุทธรณ์แต่อย่างใด โดยมาตรา 278 วรรค 3 ได้ยอมรับให้มีการอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ เพียงแต่ระบุเงื่อนไขว่าจะต้องมีการค้นพบพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญเท่านั้นผู้ต้องคำพิพากษาจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้
ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ (1) ขั้นตอนก่อนทำคำพิพากษา เช่น กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ยึดสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก หมายความว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ สามารถถามหรือไต่สวนเพิ่มเติมได้มากกว่าที่ปรากฏในสำนวน (2) ขั้นตอนหลังการทำคำพิพากษา เช่น ประเด็นเรื่องการทำคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะผู้พิพากษาว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และ (3) ขั้นตอนหลังทำคำพิพากษา เช่น ประเด็นเรื่องสิทธิอุทธรณ์และการรื้อฟื้นขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเรื่อง มาตรา 278 แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 สอดคล้องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองมากน้อยเพียงใด โดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้รับรองสิทธิในการอุทธรณ์ในคดีอาญาอย่างชัดเจนในมาตรา 14 วรรค 5 ดังนี้ “บุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษาโดยเป็นไปตามกฎหมาย” ในขณะที่มาตรา 278 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นที่สุด โดยผู้ต้องคำพิพากษาจะอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อเมื่อมีการค้นพบพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2555 : เขียนบทความโดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y5/ton2_4.pdf