Contrast
banner_default_3.jpg

3 มิติ แห่งการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในบทบาท ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 403

16/12/2563

3 มิติ แห่งการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในบทบาท

ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.[1]

               สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทย มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จะเห็นได้จากสถิติจำนวนเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการทุจริตที่เข้าสู่สำนักงาน ป.ป.ช. ในแต่ห้วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์และปัญหาของประเทศ ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดให้มีกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม รวมพลังป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกภาคส่วนอย่างจริงจังเริ่มต้นจากการส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาสมรรถนะบุคลากรควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติที่เกิดผลสำเร็จในทางปฏิบัติ

               จากภาพรวมสถานการณ์ของประเทศที่เกี่ยวข้องกับบริบทของการทุจริตคอร์รัปชัน มีกรอบเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในบทบาทสำคัญของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันใน 3 มิติ โดยมีแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ในแต่ละมิติ และรายละเอียด ดังนี้

มิติที่ 1 มิติด้านบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 โดยพิจารณาจากฐานคติที่ว่า “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดอย่างไร” ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 2 ส่วน คือ

                        มาตรการการป้องกัน

  1. การให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและหลักธรรมาภิบาลของบุคคลในภาครัฐ
  2. เสริมสร้างอุดมการณ์และปลูกฝังจิตสำนึกค่านิยมให้กับข้าราชการ นักการเมือง รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นรากฐานการปฏิบัติงานมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการจะต้องเป็นองค์กรหลักในการชี้นำสังคมให้มีค่านิยมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  3. สร้างองค์กรต้นแบบคุณธรรมในแต่ละภาคส่วน รวมทั้งการรณรงค์ ส่งเสริมคนดี
    กันคนไม่ดี ผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันออกไปจากภาครัฐและการเมือง
  4. สร้างระบบเฝ้าระวังเตือนและป้องกันภัยล่วงหน้าต่อการทุจริตคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้นในทุกหน่วยงานภาครัฐ

                        มาตรการการปราบปราม

  1. พัฒนาระบบการแสวงหาข้อเท็จจริง การไต่สวน และการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เปิดเผย แม่นตรง สามารถนำผู้ทุจริตมาลงโทษได้โดยเร็ว
  2. ปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการงานคดี ที่ยังคงค้างอยู่เป็นจำนวนมากให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วตามกรอบของกฎหมาย โดยกำหนดขั้นตอนบริหารจัดการทั้งด้านระบบและตัวบุคคลผู้รับผิดชอบในแต่ละระดับอย่างชัดเจนและมีประสิทธิผลพัฒนาและผลักดันการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ทุจริตคอร์รัปชันอย่างเข้มแข็ง และบังเกิดผลเป็นรูปธรรม

               มิติที่ 2 มิติด้านประชาสังคม โดยพิจารณาฐานคติที่ว่า “ภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างมีผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไร” ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ ได้แก่

  1. รณรงค์ ส่งเสริม ให้วิถีครอบครัวเข้มแข็งโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตครอบครัว ที่ดำรงตนบนพื้นฐานของความเป็นอยู่ที่พอดี พอเพียง ตามฐานานุรูป โดยจะต้องไม่เบียดบังหรือแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนโดยมิชอบ
  2. เน้นการเพาะบ่มปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้มีวินัยมีจริยธรรมคุณธรรม รังเกียจการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อจะเติบโตเป็นประชาชนที่มีคุณภาพของประเทศ และเป็นแนวร่วมที่แข็งแกร่งในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสังคม ด้วยการจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่กำหนดบทเรียน กิจกรรม เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตที่มีเนื้อหาสาระเหมาะสมแตกต่างต่อเนื่องกันตามระดับชั้นเรียน
  3. เสริมสร้างจิตสำนึก ค่านิยมเชิดชูคุณธรรม ต่อต้านและปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันให้แก่ประชาชนทุกระดับ
  4. เสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย แนวร่วมของภาคเอกชน และภาคประชาชนในการร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสังคม รวมทั้ง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการปฏิบัติกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างจริงจัง
  5. พัฒนาระบบช่องทางการสื่อสาร การรับฟังข้อมูลและเบาะแสต่าง ๆ เกี่ยวกับการทุจริตจากทุกทิศทาง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้อย่างตรงจุด ทันต่อเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพ

               มิติที่ 3 มิติด้านองค์กรสำนักงาน ป.ป.ช. โดยพิจารณาจากฐานคติที่ว่า “สำนักงาน ป.ป.ช. จะเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และมีสมรรถนะต่อการสนับสนุนขับเคลื่อนการปฏิบัติตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสังคมได้อย่างไร ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ ได้แก่

  1. การเพิ่มขีดสมรรถนะของสำนักงาน ป.ป.ช. ในทุกด้านให้พร้อมทำงานเชิงรุกเท่าทันต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี
  2. ปรับปรุงระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอและรองรับต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจในเชิงรุก ทั้งด้านการป้องกัน ด้านการปราบปราม
  3. เสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เพื่อให้การปฏิบัติงานตามบทบาทภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นไปอย่างเข้มแข็งมีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง
  4. เป็นศูนย์กลางของประเทศในด้านวิชาการ การศึกษาวิจัยและสัมมนา รวมทั้ง การบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ การให้ความช่วยเหลือกับทุกภาคส่วนในการสนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่และการประสานการปฏิบัติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต
    คอร์รัปชันในสังคม

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ( กรกฎาคม 2556 : เขียนบทความโดย สถาพร หลาวทอง)

   สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y6/ton1_2.pdf

Related