Contrast
banner_default_3.jpg

การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 338

16/12/2563

การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[1]

 การทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย รวมทั้งการพัฒนาโครงการ กิจกรรม ช่องทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่ยังคงพบเห็นการทุจริตอยู่ โดยสาเหตุของการทุจริตในภาพรวม ได้แก่ ระบบอุปถัมภ์ ความด้อยประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทุจริต ส่วนสาเหตุของการทุจริตตามประเภทของการทุจริต ได้แก่ 1) การจัดซื้อจัดจ้างและการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน มีสาเหตุมาจากกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ใช้ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ขาดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ขาดกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ 2) การบริหารงานบุคคล มีสาเหตุมาจากกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการบริหารงานบุคคลให้อำนาจในการบริหารงานบุคคลแก่ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมากเกินไป 3) การออกใบอนุญาต มีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาตส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

จากสภาพปัญหาของการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารงานบุคคล และการออกใบอนุญาตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย มีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหลายประการ โดยมาตรการต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานภายใต้หลักการเดียวกัน ได้แก่ หลักความโปร่งใสหรือหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักความรับผิดชอบ หลักการห้ามบุคลากรเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับหน้าที่ของตน ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมาย ตลอดจนบทบาทขององค์กรเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ โดยในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรที่เกี่ยวโยงกับความเป็นระบบอุปถัมภ์มาเป็นระบบคุณธรรม ผู้ปฏิบัติงานต้องมีคุณธรรมไม่คิดแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของตน ควรมีการยึดถือกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับเป็นใหญ่ โดยมีการบังคับและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงผลประโยชน์อันจะตกแก่ประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ซึ่งการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายฝ่ายด้วยกันจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างยาวนานในสังคมไทยได้ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ “คน” ในสังคมโดยหากคนในสังคมไม่เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและไม่เปลี่ยนแปลงค่านิยม แนวคิดหรือทัศนคติเดิม ๆ ของตน การแก้ปัญหาการทุจริตก็คงจะเกิดขึ้นได้ยากแม้ว่าจะได้มีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามดีเพียงใดก็ตาม

         

 

 

[1]  สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ( กรกฎาคม 2556 : เขียนบทความโดย สมคิด เลิศไพฑูรย์ ศิรินทร์รัตน์ กาญจนกุญชร  

   วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ นิรมัย พิศแข และ อัจจิมา ฉัตรแก้ว) สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ 

   https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y6/ton2_6.pdf

Related