จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 383
การวิจัยเพื่อศึกษารูปแบบการทุจริตเชิงนโยบาย[1]
การทุจริตหรือการคอร์รัปชันโดยนักการเมืองในระยะหลัง ๆ ได้มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการต่าง ๆ จากการการทุจริตในลักษณะเดิม ๆ ไปอย่างมากและมีความซับซ้อนยิ่งกว่าการทุจริตโดยทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเป็นการใช้อำนาจบริหารของคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายการดำเนินโครงการขนาดใหญ่หรือการจัดการกิจการต่าง ๆ ของรัฐ อันมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์หรือแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้องการทุจริตในลักษณะนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า “การทุจริตเชิงนโยบาย” โดยนัยดังกล่าวการทุจริตเชิงนโยบายจึงมีลักษณะเป็น “การทุจริตทางการเมือง” ซึ่งมีลักษณะเฉพาะและมีองค์ประกอบที่มีความซับซ้อนและแตกต่างไปจากการทุจริตในกรณีทั่วไปของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในแง่ของผู้กระทำการทุจริตและในแง่ของเนื้อหาของการทุจริต หากแต่กฎหมายในปัจจุบันยังจำกัดขอบเขตการใช้บังคับอยู่เฉพาะแก่การทุจริตในกรณีทั่วไปเป็นสำคัญ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้เกิดปัญหาข้อจำกัดหรืออุปสรรคเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในเชิงนโยบายได้และนำมาซึ่งความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายและมาตรการอย่างอื่น เพื่อให้สามารถใช้บังคับกับการทุจริตเชิงนโยบายได้โดยตรงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
มาตรการทางกฎหมายเพื่อการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเกณฑ์ความรับผิดตามกฎหมายสารบัญญัติเกี่ยวกับการทุจริตเชิงนโยบาย ด้วยการกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะในลักษณะเดียวกับมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และการออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบายและการให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้ให้ข้อมูลแก่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการทุจริตของนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ให้หรือผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริตตามแนวคิดเรื่อง Whistleblower ของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการตรากฎหมายใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบายดังกล่าวแล้ว รัฐยังจะต้องส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ในอันที่จะเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบการบริหารและการใช้อำนาจขององค์กรต่าง ๆ ของรัฐเพื่อให้เป็นไปอย่างชอบธรรมและโปร่งใส และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ( กรกฎาคม 2556 : เขียนบทความโดย นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y6/ton2_5.pdf