จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 363
ทุจริตคอร์รัปชัน: กับดักของความไม่เท่าเทียมกัน[1]
หากมองในทางเศรษฐศาสตร์เหตุที่การทุจริตคอร์รัปชันยังคงอยู่ในสังคมไทย มีเหตุผลมาจากความไม่เท่าเทียมกันในเศรษฐกิจ (economic inequality) ที่อยู่ในสังคมไทยตลอดมา กล่าวคือ ผู้มีอำนาจมากกว่าก็สามารถไขว่คว้าหาผลประโยชน์มาเป็นของตนได้มากกว่า เป็นเหตุให้ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหลักจริยธรรมเลือนหายไป (ethics fading) เพราะประชาชนเห็นว่าการได้ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจ ย่อมได้ประโยชน์เหนือกว่าการอยู่นอกกลุ่มผู้มีอำนาจ ยิ่งกว่านั้นผู้มีพลังทางเศรษฐกิจสูงกว่าแม้กระทำผิดทุจริตก็อาจไม่ต้องรับโทษ เพราะสามารถจ่ายเงินสินบน หรือเงินใต้โต๊ะทำให้รอดพ้นจากคดีที่ก่อขึ้นได้ รวมทั้งคดีความที่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจมักไร้ประสิทธิภาพเต็มไปด้วยความล่าช้า เมื่อประชาชนขาดความศรัทธาในการทำความดี และยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรมก็ย่อมนิยมยินดีต่อการร่วมมือกับพวกทุจริตคอร์รัปชันและทำให้ความเชื่อมั่นในรัฐบาลลดต่ำลงทุกขณะ (less trust)
ท่ามกลางสภาพสังคมที่มองเห็นแต่ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้จัดทำนโยบาย “ประชานิยม” ที่มีการแจกของและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ ประชาชนอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนได้ส่วนแบ่งต่าง ๆ จากรัฐบาล โดยไม่สนใจว่าโครงการเหล่านั้นจะมีการทุจริตคอร์รัปชันกันมากมายเพียงใดหรือไม่ เพราะรับรู้แต่เพียงว่าตนมีฐานะดีขึ้นในทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ลืมคิดไปว่าโครงการที่ตนได้รับประโยชน์นั้น มีการทุจริตคอร์รัปชันกันอย่างมหาศาลกลายเป็น “กับดักของความไม่เท่าเทียมกัน” (The inequality trap) ที่ประชาชนติดอยู่ในกับดักเหล่านั้นอย่างดิ้นไม่หลุดเพราะชื่นชมว่าเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ก็ยิ่งก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น จนยากที่จะแก้ไข กลายเป็นกับดักทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่ไร้ความยุติธรรม เหตุนี้สังคมไทย จึงกลายเป็นสังคมที่ไม่ยุติธรรม ในที่สุดคนที่ไม่มีพวกพ้องคือพวกที่ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองและไม่เท่าเทียมกับพวกที่มีผู้อุปถัมภ์ ความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบการเมืองและนักการเมืองจึงน้อยลงทุกขณะ ดังนั้น การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอันดับแรก คือ ต้องให้คำจำกัดความหรือปรับทัศนคติเพื่อเข้าใจในเรื่องของ “ทุจริตคอร์รัปชัน” ให้ตรงกันก่อน มิฉะนั้น อาจตกอยู่ในกับดักของคำว่า “ทุจริตคอร์รัปชัน” จนไม่อาจที่จะต่อสู้ให้ได้รับชัยชนะต่อไปได้
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ( กรกฎาคม 2556 : เขียนบทความโดย วิชา มหาคุณ)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y6/ton1_1.pdf