Contrast
banner_default_3.jpg

วิเคราะห์การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 1157

16/12/2563

วิเคราะห์การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่[1]

การที่รัฐบาลจ่ายเงินรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหรือจับกุมผู้กระทำความผิด มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ โดยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. การจ่ายเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 เป็นไปเพื่อต้องการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานและเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตราย โดยกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจหักเงินค่าปรับซึ่งได้รับชำระจากผู้กระทำความผิดทางอาญาตามฐานความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย จำนวน 132 ฉบับ ก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อจ่ายเป็นเงินสินบนและเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  2. การจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้จ่ายเงินรางวัล ซึ่งมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ที่บัญญัติให้มีการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับผู้กระทำความผิดไว้เป็นการเฉพาะหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 หรือพระราชบัญญัติส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินรางวัลทั้งในกรณีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติและตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 มีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ในส่วนที่คล้ายกันจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินการ แต่สำหรับส่วนที่เป็นสาระสำคัญของการจ่ายเงินรางวัลซึ่งได้แก่การกำหนดผู้มีสิทธิรับเงินรางวัล หรือการกำหนดอัตรา หรือสัดส่วนเงินรางวัลที่ผู้มีสิทธิจะได้รับ ยังมีความแตกต่างกันและจากความแตกต่างดังกล่าวที่เป็นเหตุให้เกิดปัญหาในระบบการจ่ายเงินรางวัลหลายประการ ได้แก่ การกำหนดบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในระบบราชการ การกำหนดอัตราการจ่ายเงินรางวัลยังขาดเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน และการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบราชการ เช่น การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้มีอำนาจกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลหรือการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลไม่สอดคล้องกับสัดส่วนการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวมของระบบการจ่ายเงินรางวัล เห็นควรให้กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการจ่ายเงินรางวัลได้มีการศึกษาและปรับปรุงระบบการจ่ายเงินรางวัล ทั้งที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายเฉพาะและที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 ให้มีมาตรฐานการดำเนินการในลักษณะอย่างเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบการจ่ายเงิน การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหลายฉบับ ซึ่งกระบวนการพิจารณากฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก

 การที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่บางตำแหน่งได้รับเงินรางวัลเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษต่างจากเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทั่วไป ก่อให้เกิดปัญหาอย่างน้อยสองประการ คือ การเกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral Hazard) และการสร้างความไม่เป็นธรรมในระบบราชการการ โดยข้าราชการกลุ่มหนึ่งได้ผลตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติสูงกว่าข้าราชการอื่น ๆ จากการศึกษากรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พบว่า

      (1) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากตัวบทบัญญัติกฎหมาย ได้แก่ การกำหนดบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินรางวัลก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในระบบราชการ การกำหนดอัตราการจ่ายเงินรางวัลขาดเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนและไม่เป็นมาตรฐาน และการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบราชการ

(2) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการจ่ายเงินรางวัล ได้แก่ เกิดการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นช่องทางการทุจริตโดยการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำลายระบบคุณธรรมในการบริหารราชการ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเจ้าหน้าที่และหน่วยราชการ เป็นช่องทางการสร้างระบบอุปถัมภ์ในองค์กรและก่อให้เกิดแตกความสามัคคีภายในหน่วยงาน

(3) ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ เกิดความไม่เสมอภาคกันในการบังคับใช้กฎหมาย และประชาชนถูกบังคับใช้กฎหมายโดยดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมหรือมีแรงจูงใจจากเงินรางวัลมากกว่าการป้องกันการกระทำความผิด

               ดังนั้น ควรกำหนดให้การจ่ายเงินสินบนเกิดความถูกต้องและโปร่งใส โดยผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนจะต้องพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของการจ่ายเงินดังกล่าวทั้งในประเด็นว่าในการจับกุมผู้กระทำผิดในคดีนั้น มีการแจ้งความนำจับจริงหรือไม่ และบุคคลที่จะขอรับเงินสินบนเป็นบุคคลที่เป็นผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องจริงหรือไม่ด้วย หากผู้สั่งจ่ายฯ ดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการจ่ายโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สมควรที่จะดำเนินการทางอาญา ทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

สำหรับปัญหาการสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบนในบางกรณีเกิดขึ้นจากการกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลและเงินสินบนตามบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลที่กำหนดให้กรณีมีผู้แจ้งความนำจับสายลับที่แจ้งจะได้เงินสินบนร้อยละ 30 ส่วนเจ้าหน้าที่จะได้เงินรางวัลร้อยละ 25 ของมูลค่าสิ่งของที่จับกุมได้ จึงเป็นที่มาของการสร้างหลักฐานเท็จโดยเจ้าหน้าที่เพื่อหวังเงินสินบนเพิ่มเติมนั้น หากเปรียบเทียบกับกรณีการจ่ายเงินสินบนตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 และระเบียบกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดแยกสัดส่วนของการจ่ายเงินรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่และการจ่ายเงินสินบนให้แก่ผู้แจ้งความนำจับไว้แตกต่างกัน โดยกรณีที่มีการจับกุมโดยไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้นำเงินส่วนที่จะจ่ายเป็นเงินสินบนมารวมจ่ายเป็นเงินรางวัลทั้งหมด เมื่อการมีผู้แจ้งความนำจับไม่มีผลต่อจำนวนเงินรางวัลที่เจ้าหน้าที่จะได้รับ จึงไม่เกิดกรณีการทุจริตจากการสร้างหลักฐานปลอมเพื่อขอรับเงินสินบนเพิ่มเติมขึ้น ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่กำหนดสัดส่วนการจ่ายเงินสินบนในลักษณะเช่นเดียวกับการจ่ายเงินสินบนตามกฎหมายศุลกากรจึงสมควรที่จะพิจารณาแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตที่มีเหตุจูงใจจากการกำหนดสิทธิในการรับเงินสินบนตามบทบัญญัติของกฎหมาย

เนื่องจากการทุจริตจากการจ่ายเงินสินบนเป็นการกระทำทุจริตทั่วไปที่เกิดจากความผิดของเจ้าหน้าที่มาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงควรเริ่มต้นที่การสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย ควรจัดให้มีการรณรงค์เพื่อป้องกันการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินสินบน โดยเชิญหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกรมศุลกากร) และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต (สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท.) เข้าร่วมการรณรงค์ดังกล่าว

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ( กรกฎาคม 2556 : เขียนบทความโดย ประธาน วัฒนาวาณิชย์)

   สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y6/ton2_1.pdf

Related