จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 683
25 ปี ป.ป.ช. สร้างสังคมไทยไม่ทนต่อการทุจริต “Fight Against Corruption สู้ให้สุด หยุดการโกง”
👉 บรรยากาศภาพ หน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมแสดงความยินดี และบริจาคเงินเพื่อการสาธารณกุศล ให้แก่ "วัดพระบาทน้ำพุ"
--
https://drive.google.com/drive/folders/16vsaWuVQ2tmQ6kZrLBhmXWD7_xMY384J?usp=sharing
สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ทั้งนี้ จึงได้ถือเอาวันที่ 18 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสถาปนาของสำนักงาน ป.ป.ช. ตลอดระยะเวลา 25 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มุ่งมั่นในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อสร้างสังคมไทยไม่ทนต่อการทุจริต ด้วยนโยบายเชิงรุกทั้งการปราบปรามการทุจริต การป้องกันการทุจริต และการตรวจสอบทรัพย์สิน ควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นหลายประการ อาทิ
(1) การเฝ้าระวังและส่งเสียง (Watch and Voice) คือการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการเฝ้าระวังและเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบ เช่น กรณีการทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และกรณีเงินทอนวัด เป็นต้น
(2) การให้ประชาชนทั่วประเทศช่วยกันเปิดโปงกรณีการทุจริตในพื้นที่จังหวัดหรือท้องถิ่นของตนด้วยการร่วมแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน ยกตัวอย่างกรณีโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โครงการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้าง โครงการขุดลอกลำคลองหรือก่อสร้างถนน ตลอดจนการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ เช่น ป่าสงวน ป่าชายเลน หรือแม้กระทั่งชายหาด เป็นต้น
(3) การมีคำพิพากษาของศาล เกี่ยวกับกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน อาทิ การนำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตน หรือการนำรถยนต์ EV ส่วนบุคคลมาชาร์จไฟในพื้นที่ราชการ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มุ่งในการปรับฐานความคิดด้านการแยกแยะประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมให้ประสบผลสำเร็จ โดยนำกรณีตัวอย่างที่ศาลได้มีคำพิพากษา เพื่อสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ
(4) การร่วมกันตรวจสอบและติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในกรณีต่าง ๆ อาทิ การรับเงินแป๊ะเจี๊ยะของโรงเรียนเพื่อแลกกับสิทธิในการเข้าศึกษา การทุจริตนมโรงเรียน การฮั้วประมูลในโครงการต่าง ๆ หรือการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้านวัตกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้เกิดกลไกในการส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดให้มีกลไกการคุ้มครองพยาน การกันบุคคลไว้เป็นพยาน การจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่เข้ามาชี้ช่อง แจ้งเบาะแส ให้ข้อมูล หรือให้ข้อเท็จจริง กระทั่งนำไปสู่การพิพากษาดำเนินคดี และมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินจากการกระทำผิดนั้น ๆ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในการป้องกันการทุจริตกับภาคีต่าง ๆ เป็นต้น
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงขับเคลื่อนนโยบาย “ป้องนำปราบ” โดยผลักดันการดำเนินงานดังนี้
ภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต ยังคงขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบการดำเนินการประเมิน ITA ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังคงขับเคลื่อนในเรื่องหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ในประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต และการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขับเคลื่อนศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) เพื่อเฝ้าระวัง ระงับยับยั้ง ป้องกันและป้องปราม เพื่อลดการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านปราบปรามการทุจริต มุ่งมั่นในการดำเนินการเรื่องตรวจสอบและไต่สวน ให้มีความเป็นระบบและเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมุ่งเน้นการสะสางเรื่องกล่าวหาคงค้าง ควบคู่กับการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรับเรื่องกล่าวหาร้ายแรงไว้ดำเนินการ การบูรณาการความร่วมมือในการส่ง/มอบหมายเรื่องกล่าวหาที่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรงให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ ควบคู่กับการเตรียมการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของการส่งเรื่องกล่าวหา และการกำกับติดตาม การดำเนินงาน ทั้งนี้ การดำเนินงานของภารกิจไต่สวนการทุจริต มุ่งเน้นการทำงานที่รวดเร็ว ควบคู่กับการรักษาคุณภาพ และมาตรฐานในการจัดทำสำนวนไต่สวน และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งการดำเนินการคดีร่ำรวยผิดปกติ อีกหนึ่งภารกิจหลักที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเกรงกลัวและลดการกระทำความผิดทางทุจริตให้ลดลง นโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงคุณภาพ การจัดลำดับความสำคัญของภาระงาน การเคร่งครัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด การเตรียมความพร้อมในทุกมิติสำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผ่านระบบเล็กทรอนิกส์
สำหรับด้านการพัฒนาองค์กร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการดำเนินงานในทุกภารกิจเพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง โดยการรวบรวมองค์ความรู้และจัดทำคู่มือการดำเนินงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้และระบบพี่สอนน้อง (Coaching) รวมทั้ง การขับเคลื่อนค่านิยมหลักขององค์กร “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” ให้มีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทุกภารกิจเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐาน
ในโอกาสครบรอบ 25 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งมั่น เดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่อขจัดการทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย และ ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อสู้กับการทุจริตในทุกรูปแบบ ภายใต้แคมเปญ “Fight Against Corruption สู้ให้สุด หยุดการโกง” และได้จัดงานวันสถาปนา สำนักงาน ป.ป.ช. ในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567 โดยมีกิจกรรม ตักบาตรพระสงฆ์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีพราหมณ์สักการะบูชาพระภูมิเจ้าที่ และต้อนรับผู้ร่วมแสดงความยินดี และรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการสงเคราะห์ผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้พิการ ให้แก่วัดพระบาทน้ำพุ การแสดงสัมโมทนียกถา โดย พระราชวิสุทธิประชานาถ วัดพระบาทน้ำพุ และพิธีมอบรางวัลเพชรน้ำเอก ประจำปี 2567 เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ตำแหน่งสาขากระบวนการยุติธรรม ตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นายเอนก สอนสี ผู้อำนวยการกลุ่มไต่สวน 4 สำนักไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ
กลุ่มที่ 2 ตำแหน่งทั่วไป ตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่ม ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ - กลุ่มที่ 3 ตำแหน่งสาขากระบวนการยุติธรรม ระดับต้น – ระดับสูง ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นางสาวปิยะวรรณ สุขขา พนักงานไต่สวน ระดับสูง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารคดีภาค 4 กลุ่มที่ 2) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4
กลุ่มที่ 4 ตำแหน่งทั่วไป ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ – ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภททั่วไประดับปฏิบัติงาน – ระดับอาวุโส ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นางสาวอมลมณี ลีนิวา เจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สินชำนาญการพิเศษ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบและกลั่นกรองเรื่องตรวจสอบทรัพย์สิน) สำนักกิจการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
กลุ่มลูกจ้างสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นายอัมรินทร์ อ่วมนุช พนักงานโสตทัศนศึกษา (ลูกจ้างตามสัญญาจ้าง) สถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์
ทั้งนี้ หากพบเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถแจ้งได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ช. โทร. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทั่วประเทศ
___________________________________________________
สถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 25 ปี
👉 บรรยากาศภาพตักบาตรเช้า
https://drive.google.com/drive/folders/1qlG7lg9Y2IHgwiqQdOSBVaFd_AKuBVXK?usp=sharing
---
👉 บรรยากาศภาพพิธีเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเช้า
https://drive.google.com/drive/folders/1rlecGYsUe_LBgz7plhL7gJz595Hc_UxO?usp=sharing
--
👉 บรรยากาศภาพ พิธีสักการะพระพุทธมงคลนาถศาสดา
https://drive.google.com/drive/folders/18dD4tJWlgWAq2lvBQOe8F3yXEIJfFHbS?usp=sharing
--
👉 บรรยากาศภาพ พิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5
https://drive.google.com/drive/folders/1Qd_3Ode3sB-0pxW5qLuhPyb2eFQxz1MJ?usp=sharing
--
👉 บรรยากาศภาพ พิธีสักการะพระภูมิ - เจ้าที่
https://drive.google.com/drive/folders/1czVtdrKdZ0ifSJv-m_ZdGIxDRAmxovG8?usp=sharing