จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 171
ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดประเด็นและพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต แผนงานพัฒนาแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตประเด็นระดับประเทศ
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดประเด็นและพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ภายใต้แผนงานพัฒนาแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประเด็นระดับประเทศ ณ โรงแรม แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ คัดเลือกประเด็นและพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป้าหมายลดการทุจริต ตามตัวชี้วัดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบที่สำนักงาน ป.ป.ช. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกัน
โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจากนางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม และนางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม โดยได้กล่าวถึงที่มาของการกำหนดประเด็นเสี่ยงระดับประเทศว่า จากรายงานสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จัดทำโดยสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบาย และแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานตามภารกิจร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พบว่า หน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุด ได้แก่ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,739 เรื่อง (ร้อยละ 44.96) รองลงมากระทรวงมหาดไทย จำนวน 342 เรื่อง (ร้อยละ 8.84) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 285 เรื่อง (ร้อยละ 7.37) และเป็นส่วนราชการอื่น ๆ จำนวน 1,502 เรื่อง (ร้อยละ 38.83)
เมื่อพิจารณาคำกล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในเขตพื้นที่ภาค 1-9 และประเภทคำกล่าวหา ปรากฏว่า คำกล่าวหา 2 อันดับแรก เป็นประเภทการจัดซื้อจัดจ้าง และการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาวงเงินงบประมาณของโครงการ หรือจำนวนเงินที่มีการทุจริตตามคำกล่าวหา มีมูลค่ารวม 26,247 ล้านบาท ซึ่งหากจำแนกตามประเภทคำกล่าวหา พบว่า คำกล่าวหาประเภทการจัดซื้อจัดจ้างมีมูลค่ามากที่สุดจำนวน 13,391 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.02 จึงเป็นที่มาของหัวข้อความเสี่ยงที่กำหนดเป็นประเด็นระดับประเทศในปีนี้
สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต จึงมุ่งดำเนินการเรื่อง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นประเด็นเสี่ยงตามฐานข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีการจับตามองและแจ้งเบาะแสจากเครือข่ายภาคประชาชน ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตทั่วประเทศ และเป็นเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งภายในกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ช่วงที่สำคัญ ประกอบด้วย
การอภิปรายในหัวข้อ “สำนักงาน ป.ป.ช. กับกลไกสหยุทธ์ต้านและลดทุจริตในประเด็นเสี่ยงระดับประเทศ” โดยวิทยากรจากสำนักงาน ป.ป.ช. นายอุเทน กอวงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรการและนวัตกรรมป้องกันการทุจริต 1 สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม นายกรกิฎ วันเที่ยง ผู้อำนวยการกลุ่มไต่สวน 4 สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 2 นางสาวเนรัชราพิน สิทธิกัณย์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารพัสดุ สำนักบริหารทรัพย์สิน นายวันชัย สีขาว ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักวิจัยและบริการวิชาการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต และนายเฉลิมชัยวงค์ บริรักษ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ดำเนินการอภิปราย โดย นางภาษิตา ศราธิลักษณ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วม
ต้านทุจริต
จากนั้นเป็นการบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาระบบการกำกับติดตามการบริหารโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ” และ “ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมาตรฐานราคากลางงานก่อสร้างเพื่อเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานและป้องกันการทุจริตในโครงการก่อสร้างภาครัฐ” โดยรองศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ท้ายสุด ต่อด้วยการแบ่งกลุ่มเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การแลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนงานเชิงบูรณาการเพื่อต้านและลดความเสี่ยงต่อการทุจริตในโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพื่อกำหนดประเด็นเสี่ยง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรวบรวมข้อมูลในกระบวนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ ประเด็นระดับประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568