Contrast
Font
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 739

23/09/2567

มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

ที่มาและความสำคัญ

ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขุดดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายกรณี เช่น การลักลอบขุดหน้าดินขายในพื้นที่ ส.ป.ก. การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งพบว่า มีการลักลอบขุดหน้าดินโดยไม่ได้แจ้งขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือใบอนุญาตหมดอายุ ซึ่งกระทบต่อรายได้จากค่าธรรมเนียมที่รัฐควรได้ มีการขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการเกินกว่าที่ขออนุญาต ส่งผลทำให้พื้นที่ที่ดินบริเวณข้างเคียงเกิดการทรุดตัวและพังทลายได้รับความเสียหายและมีการบรรทุกดินน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดทำให้ถนนหนทางชำรุดเสียหายซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมาก ในการซ่อมบำรุง รวมถึงการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้พิจารณาการให้ใบอนุญาตขุดดินและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เข้าไปตรวจสอบควบคุมการประกอบกิจการขุดดินให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตสำหรับ ขุด ตัก ลอก หรือดูดทรายหรือดิน
การขุดดินและถมดินมีหลายหน่วยงาน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดินหลายฉบับ ส่งผลให้การกำกับติดตามการให้อนุญาตขุดดินและถมดิน มีความแตกต่างกันไป ส่งผลให้ต้องใช้ใบอนุญาตหลายฉบับและมีกระบวนการขอใบอนุญาตที่ยุ่งยากและใช้ระยะเวลานานเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาผลประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งรัดการอนุญาต รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ในการกำกับดูแล การควบคุมตรวจสอบการดำเนินการขุดดินและถมดิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต่อคณะรัฐมนตรี

ข้อเสนอแนะ

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

1) การแก้ไขประเด็นปัญหาด้านกฎหมาย กฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน

          (1) ควรปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดิน เพื่อให้การควบคุม ดูแลการขุดดินและถมดินมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันการทุจริตได้มากยิ่งขึ้น
               โดยในกฎหมายดังกล่าว ให้กำหนดถึงแนวทางในการขนย้ายดินหลังจากที่มีการขุดดินและถมดินด้วย
             
           (2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติ อนุญาตในการขุดดินและถมดินทำความตกลงเพื่อลดขั้นตอนในการขออนุมัติ อนุญาต ซึ่งจะทำให้กระบวนการอนุมัติ อนุญาต มีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น ร่วมกันพิจารณาออกกฎระเบียบการใช้หน้าที่และอำนาจในการออกใบอนุญาตเป็นกฎระเบียบร่วม พร้อมทั้งให้นำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้การอนุมัติ อนุญาต การออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต

           (3) ควรร่วมกันจัดทำแผนที่แสดงเขตพื้นที่ที่สามารถขออนุญาตขุดดินและถมดินได้ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS เพื่อป้องกันมิให้เกิดการให้ใบอนุญาตในพื้นที่ห้ามขุดดิน

           (4) ควรมีการวิเคราะห์ ว่าในแต่ละสภาพพื้นที่สามารถขุดดินและถมดินได้หรือไม่ รวมถึงผลกระทบจากการขุดดินและถมดิน และแนวทางในการฟื้นฟูสภาพดินและสิ่งแวดล้อม

2) การแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตในการดูดทราย และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด

          ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความตกลงและจัดทำคู่มือในการแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตดูดทราย และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด

3) การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการดำเนินการขุดดินและถมดิน การบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัดหรือมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลตามภารกิจหน้าที่และอำนาจ

          (1) ต้องมีมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีการลงโทษอย่างจริงจังสำหรับผู้ใช้อิทธิพลและอำนาจ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน และควรมีการสร้างระบบของการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีระบบป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกระทำการทุจริตเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำความผิด

          (2) ต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้อย่างเพียงพอ มีการกำหนดระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

          (3) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการขุดดินและถมดิน

4) ปัญหาการขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน

          ให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ความดูแลของตนเอง สร้างกลไกในการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องสร้างระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งข้อมูลโดยจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสม ซึ่งอาจใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ และรายงานผลการดำเนินการภายหลังได้รับการแจ้งเบาะแสให้ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสรับทราบด้วย และต้องมีกลไกในการคุ้มครองประชาชนผู้แจ้งเบาะแสด้วยเช่นกัน

5) ปัญหาในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

          การลักลอบขุดดิน การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การขุดดินขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ การขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการ การขุดดินเกินกว่าที่ขออนุญาต การขุดดินในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินเอกชน การขุดดินที่กระทบถึงความปลอดภัย การบรรทุกดินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดทำให้ถนนเกิดความชำรุดเสียหายซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบำรุงเส้นทาง การแก้ไขปัญหาในข้อนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังเป็นรายกรณี

Related