จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 226
การศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากร
ที่มาและความสำคัญ
ด้วยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปีพ.ศ. 2565 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้เคยตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา และคดีได้มีการถอนคำร้องทุกข์ อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือคดีถึงที่สุดว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือคดีศาลยกฟ้อง ซึ่งหมายความว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ปรากฏว่ายังมีข้อมูลดังกล่าวในฐานข้อมูลระบบสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เป็น “ผู้มีประวัติอาชญากรติดตัว” เป็นเสมือนผู้ที่กระทำความผิดนั้นอยู่
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นสมควรศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งจากการศึกษา พบปัญหาการจัดเก็บข้อมูลประวัติอาชญากรที่ยังไม่เป็นปัจจุบัน และไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลหรือนำข้อมูลมาใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารกระบวนการยุติธรรมร่วมกัน สิ่งนี้นำไปสู่การกระทำความผิดทางอาญา เช่น มีการหลอกลวงประชาชนด้วยการแอบอ้างว่าเป็นผู้มีความสามารถตรวจสอบและลบข้อมูลประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการกระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบ เช่น เป็นช่องทางให้เจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อจัดการกับทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอเสนอการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากร ต่อคณะรัฐมนตรี
ข้อเสนอแนะ
เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากร คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากร ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้
1) การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น
ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนว่า ในแต่ละขั้นตอนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดกรอบเวลาเท่าใด ตั้งแต่ขั้นตอนพนักงานสอบสวนรายงานผลคดีไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร ขั้นตอนกองทะเบียนประวัติอาชญากรเสนอเรื่องให้มีการคัดแยกทะเบียนประวัติ ขั้นตอนคณะกรรมการพิจารณาคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งการกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนแน่นอนจะป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตมิให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจเรียกรับ หรือประวิงเวลา เพื่อนำชื่อออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร (ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2561) รวมถึงป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการถอนประวัติจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหามาบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร (ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566)
2) การแก้ไขปัญหาในระยะกลาง
เห็นควรผลักดันนโยบาย/แผนการดำเนินงานในการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรแบบบูรณาการ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหารือแนวทางการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจัดตั้งคณะทำงานร่วมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อร่วมหาแนวทางบูรณาการฐานข้อมูล หรือการ Clearing House ที่จะแก้ไขปัญหาข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไม่เป็นปัจจุบัน ปัญหาข้อมูลผลคดีล่าช้า ลดขั้นตอนการคัดแยกทะเบียนประวัติ ลดปริมาณงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงทำให้ได้ฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการยุติธรรมร่วมกัน โดยคำนึงถึง“ธรรมาภิบาลข้อมูล (DATA GOVERNANCE)” ควบคู่กับแนวคิด“ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (CYBER SECURITY)”
3) การแก้ไขปัญหาในระยะยาว
เห็นควรให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการทบทวนปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ และเกิดการคุ้มครองสิทธิของประชาชน
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก จัดทำแนวทางการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรม เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาและมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปปฏิบัติต่อไป และให้รายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการเสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปี