จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 302
มาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดูดทรายในที่ดินของรัฐ
ที่มาและความสำคัญ
ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษามาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดูดทรายในที่ดินของรัฐ นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเกี่ยวกับการอนุญาตให้ดูดทรายเป็นจำนวนมาก และปรากฏข้อเท็จจริงจากการศึกษาความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐหลายกรณี โดยพบว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในรูปแบบการเรียกรับสินบน การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการเอื้อประโยชน์ รวมถึงข้อขัดข้องของระเบียบกฎหมายที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมิอาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นผลดีต่อราชการได้ โดยมีสาเหตุสำคัญที่ค้นพบ เช่น กระบวนการออกใบอนุญาตที่ซับซ้อนหลายหน่วยงานและการต่อใบอนุญาตที่ล่าช้า กฎหมายกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าทรายในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ ประกอบกับภาครัฐไม่มีระบบการควบคุมปริมาณการดูดทรายที่ผู้ประกอบการดำเนินการได้จริง ส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและรายได้อย่างไม่เหมาะสม นอกจากนี้ การกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินการดูดทรายที่ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนด ทำให้ผู้ประกอบกิจการดูดทรายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาต ในส่วนของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการดูดทรายยังไม่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้พื้นที่ที่ได้อนุญาตดูดทรายหลายแห่งปรากฏความเสียหายแก่สภาพตลิ่ง และสภาพธรรมชาติของลำน้ำค่อนข้างมาก อันส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชนและชุมชน และภาครัฐก็ไม่สามารถควบคุม ดูแล และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทรายถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีความต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐจะสร้างความโปร่งใสในการกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐมากยิ่งขึ้น โดยเน้นให้ทุกหน่วยงานลดขั้นตอนการปฏิบัติที่ไม่จำเป็น นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ดำเนินการ ให้มีการบูรณาการข้อมูลและการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มีมาตรฐานและลดผลกระทบและความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากปริมาณทรายที่ดูดได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอเสนอมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดูดทรายในที่ดินของรัฐ ต่อคณะรัฐมนตรี
ข้อเสนอแนะ
เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดูดทรายในที่ดินของรัฐ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดูดทรายในที่ดินของรัฐต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
เห็นควรพิจารณามอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการอนุญาตให้ดูดทรายทั้งระบบ โดยเน้นให้ทุกหน่วยงานลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ดำเนินการ ให้มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และร่วมดำเนินการในบางขั้นตอนที่สามารถดำเนินการพร้อมกันได้ เป็นต้น
2) ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทย
(1) เห็นควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอัตราค่าตอบแทนกรณีดูดทราย ในแนบท้ายประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
(2) เห็นควรพิจารณากำหนดวิธีการหรือแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดเก็บค่าตอบแทนจากการดูดทรายตามที่ผู้ประกอบการดูดได้จริง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน
(3) เห็นควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย ในส่วนที่ว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตและต่อใบอนุญาต โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์หรือมาตรการในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย
(4) เห็นควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย โดยกำหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ทุกกรณี ทั้งกรณีการออกใบอนุญาตใหม่และการต่อใบอนุญาต โดยให้นำความคิดเห็นของผู้คัดค้านมาประกอบการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้ผู้ขออนุญาตจัดทำแผนการดำเนินการตาม “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตักและดูดทรายในแม่น้ำ” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประกอบการพิจารณา ตลอดจนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดูดทรายอย่างมีประสิทธิภาพ
กรณีพื้นที่ที่ขออนุญาตดูดทรายอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าหนึ่งแห่ง หรือพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพลำน้ำ รวมถึงการขนส่งทราย จังหวัดหรืออำเภอควรบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชนชนและกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
(5) เห็นควรกำหนดแนวทางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ชัดเจนและมีวิธีการที่หลากหลาย โดยอาจใช้วิธีทำประชาคมและการรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กัน และให้มีการนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านต่อที่ประชุมประชาคม หรือเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวประกอบการรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน
(6) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรพิจารณาให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยอาจจัดให้ประชาชนที่ประสงค์จะเข้าฟังการประชุมได้เข้าฟังการประชุมของสภาท้องถิ่น ตามประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สภาท้องถิ่นกำหนด ตามนัยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ข้อ 117 วรรคสี่ หรือการถ่ายทอดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามวรรคห้า
(7) เห็นควรพิจารณากำหนดให้ทุกจังหวัดที่มีการอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอ เพื่อตรวจตรา ควบคุมดูแลให้การดำเนินการดูดทรายเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
ทั้งนี้ ให้คณะทำงานร่วมดังกล่าว รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการผลักดันแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ... (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565) และคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ตามที่กำหนด
3) ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(1) เห็นควรให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณากำหนดคู่มือหรือแนวทางให้ผู้ขออนุญาตดูดทรายจัดทำแผนการดำเนินการตาม “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” เพื่อใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตดูดทราย รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย
(2) เห็นควรให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไข “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” โดยนำสภาพปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดูดทรายทั่วประเทศมาพิจารณาดำเนินการ
ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าพื้นที่ใดมีทรัพยากรทรายที่สามารถดูดได้ต่อเนื่องหลายปี หรือการดูดทรายในบริเวณนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้าง อาจพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดทำ “รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE)” ด้วยก็ได้ โดยใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องโดยอนุโลม
4) ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ
เห็นควรให้กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมป่าไม้) กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นพิจารณาดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลการอนุญาตตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน โดยเผยแพร่บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน อย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้ ได้แก่ ผลการพิจารณาของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มติคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และชื่อ – นามสกุลของบุคคล/นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาต พื้นที่ที่ได้รับอนุญาต จำนวนพื้นที่ตามใบอนุญาต และระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาต เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมตรวจสอบ