จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 258
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 19 กรกฎาคม 2556
ความเป็นมา
ด้วยคณะกรรมการ.ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนพนักงานองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับพวกร่วมกันทุจริตในโครงการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงฤดูการผลิต ปี 2555/56 ในจังหวัดศรีสะเกษ และได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ถึงปัญหา สาเหตุจากข้อเท็จจริงตามเรื่องกล่าวหาร้องเรียน รวมทั้งข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แล้วพบว่าการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่เน่าเสียเร็ว โดยเฉพาะโครงการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้แก้ไขปัญหาราคาหอมแดงได้อย่างแท้จริงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก และประการสำคัญพบการทุจริตในการดำเนินการทุกขั้นตอน
ข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการ .ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการใช้นโยบายราคาการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่เราเสียเร็วต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามนัย มาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ 2542 แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ดังนี้
1. รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบว่า สมควรดำเนินนโยบายแทรกแซงราคาเพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่เน่าเสียเร็ว โดยการรับซื้อมาเก็บไว้เองหรือไม่ เนื่องจากสินค้าเกษตรเหล่านี้จะสูญเสียง่าย และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก
2. หากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายแทรกแซงราคา แนวทางที่รัฐบาลควรจะดำเนินการคือการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรในช่วงต้นฤดูการผลิตอย่างเพียงพอ ที่จะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ตลอดฤดูการผลิต และให้เกษตรกรเป็นผู้เก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรระหว่างรอการจำหน่ายเอง โดยมอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย กลไกของธนาคาร เนื่องจากมีระบบบัญชีที่ต่อเนื่องและมีวินัยทางการเงินที่เคร่งครัด ตรวจสอบได้
แต่หากรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายแทรกแซงราคา เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเน่าเสียเร็ว โดยการนำเงินงบประมาณไปใช้ในการรับซื้อสินค้าเกษตรไว้เอง ก็ควรที่จะมีมาตรการ กลไกในการควบคุม กำกับ ดูแลให้รัดกุม ไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับกรณีแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงฤดูกาลผลิต ปี 2554/55 ที่มีการปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกรรมบาปมีอำนาจในการบริหารจัดการ รวมทั้งมีการนำหอมแดงที่ได้รับซื้อไว้แล้วกลับมาหมุนเวียนขายให้กับทางราชการซ้ำอีก
3. รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ตามนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก คือการให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกตลาด การจัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์ และนโยบายหลักในการบริหารประเทศ ที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะเวลา 4 ปี ของรัฐบาล ในส่วนของนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาระบบการผลิตที่เป็นขั้นตอน มีการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายล่วงหน้าที่แม่นยำ ส่งเสริมการผลิตนอกฤดูกาล การแปรรูป ส่งเสริมการตลาด และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ดังนี้
1. อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในการประชุมครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) เสนอ ดังนี้
1.1 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการใช้นโยบายราคาเพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่เน่าเสียเร็ว ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ
1.1.1 รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบว่า สมควรดำเนินนโยบายแทรกแซงราคา เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่เน่าเสียเร็ว โดยการรับซื้อมาเก็บไว้เองหรือไม่ เนื่องจากสินค้าเกษตรเหล่านี้จะสูญเสียง่าย และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก
1.1.2 หากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายแทรกแซงราคา แนวทางที่ควรจะดำเนินการ คือ การให้สินเชื่อแก่เกษตรกรในช่วงต้นฤดูการผลิตอย่างเพียงพอที่จะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ตลอดฤดูการผลิต และให้เกษตรกรเป็นผู้เก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรระหว่างรอการจำหน่ายเอง โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย ด้วยกลไกของธนาคาร เนื่องจากมีระบบบัญชีที่ต่อเนื่องและมีวินัยทางการเงินที่เคร่งครัด ตรวจสอบได้ แต่หากรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายแทรกแซงราคา เพื่อแก้ไขปัญหาสินเค้าเน่าเสียเร็ว โดยการนำเงินงบประมาณไปใช้ในการรับซื้อสินค้าเกษตรไว้เอง ก็ควรที่จะมีมาตรการ หรือกลไกในการควบคุม กำกับ ดูแลให้รัดกุมมิให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับกรณีแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงฤดูการผลิตปี 2554/55 ที่มีการปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีอำนาจในการบริหารจัดการ รวมทั้งมีการนำหอมแดงที่ได้รับซื้อไว้แล้วกลับมาหมุนเวียนขายให้กับทางราชการซ้ำอีก
1.1.3 รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ตามนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก คือ การให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกตลาด การจัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์ และนโยบายหลักในการบริหารประเทศที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะ 4 ปี ของรัฐบาลในส่วนของนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาระบบการผลิตที่เป็นขั้นตอน มีการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายล่วงหน้าที่แม่นยำ ส่งเสริมการผลิตนอกฤดูกาล การแปรรูป ส่งเสริมการตลาด และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
1.2 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลสินค้าเกษตรร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
1.3 ในระหว่างนี้หากมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
1.4 ให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะที่กำกับดูแลองค์การคลังสินค้าดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพนักงานองค์การคลังสินค้าถูกกล่าวหาร้องเรียนว่า ร่วมกันทุจริตในโครงการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดง ฤดูการผลิตปี 2554/2555 ในจังหวัดศรีสะเกษ และหากพบว่ามีความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาร้องเรียนให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง แล้วรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็วและอย่างต่อเนื่อง
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎระเบียบของทางราชการ หากพบว่ามีการดำเนินการที่ผิดระเบียบและขั้นตอนที่ทางราชการกำหนด ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
ความเห็นของหน่วยงาน :
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงบประมาณ
กระทรวงมหาดไทย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงการคลัง