Contrast
Font
1fb78790cc0d15f0770bdb8346fea109.jpg

ป.ป.ช. ทำหน้าที่ด้วยดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย มีความเห็นเป็นอิสระ การไต่สวนและการฟ้องคดี จึงเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และปราศจากอคติ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1258

28/06/2567

ป.ป.ช. ทำหน้าที่ด้วยดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย มีความเห็นเป็นอิสระ การไต่สวนและการฟ้องคดี จึงเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และปราศจากอคติ

        วันนี้ (28 มิถุนายน 2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงกรณีมีการนำเสนอข่าว การร้องเรียนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าขาดความยุติธรรม ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ไม่ปราศจาก อคติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในประเด็นที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง นายณรงค์ คำหงส์ อดีตผู้บริหารวิทยาลัยพลศึกษาชลบุรี  กับพวก 15 คน คดีกล่าวหาทุจริตเบียดบังเงินยืมทดรองราชการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องไต่สวนชี้มูลความผิดกว่า 13 ปี ปล่อยปะ ละเว้น ทำให้ป.อาญา ม.162, ป.อาญา ม.157 ขาดอายุความไปแล้ว แต่กลับไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาชี้มูล ป.อาญา ม.147 เพื่อให้มีโทษสูงกว่าทำให้คดีไม่ขาดอายุความ นั้น

       สำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงว่าเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลกรณี เจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยพลศึกษาชลบุรี ทุจริตในการยืมเงินทดรองราชการ ประจำปีงบประมาณ 2544 – 2548 โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าเงินยืมทดรองราชการ เป็นเงินที่หน่วยงานราชการจ่ายให้แก่ผู้ยืม เพื่อใช้จ่ายในการเดินทาง  ไปราชการ หรือดำเนินโครงการตามที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา อันเป็นการยืมไปเพื่อใช้จ่ายตามวัตุประสงค์ และกิจการของราชการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามตำแหน่งหน้าที่ของผู้ยืม การยืมเงินทดรองราชการจึงเป็นการยืมไปใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการของราชการทั้งสิ้น ซึ่งผู้ยืมต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2520  ดังนั้นเงินที่วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดชลบุรี จ่ายให้ผู้ถูกกล่าวหา ยังคงเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินของทางราชการ การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ส่งใช้เงินยืมภายในระยะเวลาที่กำหนด ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง ๕ ปี อันเป็นการเบียดบังเงินยืมไปเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำจึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 147 แล้ว

      คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วคดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอ จึงนำคดีมาฟ้องเองต่อศาลภายในอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 95 (1) โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต  พ.ศ. 2561 มาตรา 77 ประกอบมาตรา 93 ดังนั้นการแจ้งข้อกล่าวหา การไต่สวนและการฟ้องคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ในรูปแบบขององค์คณะบุคคลมีความเห็นเป็นอิสระ โดยรับฟังพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนและพยานบุคคลประกอบการกระทำ อันเป็นการใช้ดุลพินิจที่มีเหตุผลประกอบเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรมและปราศจากอคติชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 25 แล้ว   

      อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 คดีหมายเลขดำที่ อท.37/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท.68/2566 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566  และปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์

     จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

            การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด

       ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

 

Related