จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1375
ป.ป.ช. ชี้แจงคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จำนวน 4 เรื่อง
วันนี้ (16 ธันวาคม 2567) นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จำนวน 4 เรื่องดังนี้
เรื่องที่ 1 กรณีกล่าวหานายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และพลตำรวจโท ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กรณีส่งตัวผู้ต้องขังรายนายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ และให้นายทักษิณ ชินวัตร อยู่รักษาที่โรงพยาบาลตำรวจจนกระทั่งครบ 180 วัน ทั้งที่ไม่เจ็บป่วยจริง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานการตรวจสอบเบื้องต้น แล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอ จึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 51 โดยให้ดำเนินการไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมราชทัณฑ์
และโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 12 คน ทั้งนี้ หากในชั้นไต่สวนพบว่ามีบุคคลอื่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้ดำเนินการไต่สวนกับบุคคลดังกล่าวต่อไป
เรื่องที่ 2 กรณีกล่าวหานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับพวก ในฐานะคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่าดำเนินการคัดเลือกรายชื่อเสนอแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกรายชื่อเสนอแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีการพิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส แต่กฎหมายกำหนดไว้แต่เพียงว่าให้คำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ใช้ประกอบในขณะพิจารณาคัดเลือก พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ซึ่งเป็นบุคคลมีคุณสมบัติครบถ้วน และอยู่ในเกณฑ์ที่สมควรได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นตามนัยมาตรา 77 (1) ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. และได้รับฟังความคิดเห็นจาก ก.ตร. ทุกคน และไม่มีพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดบ่งชี้ได้ว่ามีการสั่งการให้มีการคัดเลือก พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. การใช้ดุลพินิจของผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก จึงไม่พอที่จะรับฟังได้ว่ามีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล จึงมีมติไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 49 ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 45 (1)
เรื่องที่ 3 กรณีกล่าวหาพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก เรียกรับเงินหรือทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และธุรกิจผิดกฎหมายอื่น จำนวน 18 ประเภท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอ จึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 51 โดยให้ดำเนินการไต่สวนกับพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมลเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก รวม 8 คน ทั้งนี้ หากในชั้นไต่สวนพบว่ามีบุคคลอื่น
มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดให้ดำเนินการไต่สวนกับบุคคลดังกล่าวต่อไป
เรื่องที่ 4 กรณีกล่าวหาพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก เรียกรับผลประโยชน์จากเว็บพนันออนไลน์ สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกัน และรับทรัพย์สินเกินกว่า 3,000 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีมติให้คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แล้วนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน