Contrast
Font
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 633

03/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 1 กันยายน 2563

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

          ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติมอบหมายองค์คณะพนักงานไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินการเบิกจ่ายเงินโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักมาตรการป้องกันการทุจริต (ชื่อสำนักในขณะนั้น) พิจารณาศึกษาและกำหนดเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตที่เกิดจากการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดทำบัญชีเงินหรือทรัพย์สินในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ไม่มีการกำหนดวิธีการควบคุม ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินที่ชัดเจนและรัดกุมเพียงพอ เป็นเหตุให้ผู้รับผิดชอบสามารถกระทำการทุจริตเบียดบังเงินได้โดยง่ายข้อเท็จจริง

          การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินการเบิกจ่ายเงินโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ได้มีการดำเนินการค้นคว้าจากตัวบทกฎหมาย บทความ สำนวนการไต่สวนในคดีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินงานของกองทุนฯ โดยเจาะจงไปที่ขั้นตอนในการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดทำบัญชีเงินหรือทรัพย์สินในระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งเป็นจุดที่ปรากฏประเด็นปัญหาขึ้นมา 

ข้อเสนอแนะ

  1. ข้อเสนอแนะต่อระบบการจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่การเสนอโครงการเพื่อขอรับ งบประมาณ และการอนุมัติโครงการ

              1) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดแนวทางหรือรูปแบบการวิเคราะห์ และการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และในแต่ละกองทุนให้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการทุจริตแต่ละแผนงาน/โครงการในทุกกระบวนงานว่ามีความเสี่ยงต่อการทุจริตอะไรบ้าง และมีแนวทางในการควบคุมอย่างไร

              2) ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ มีการพิจารณาความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อนได้

              3) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการวางแนวทางการดำเนินการวิเคราะห์ ผลลัพธ์การใช้งบประมาณโดยเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ใช้ไป (Cost – Benefit Analysis) ที่ง่ายและไม่ซับซ้อนเกินไป เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนถึงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการ ทั้งนี้ โดยพิจารณาทั้ง 2 มิติ ทั้งมิติด้านการเงินและมิติเชิงสังคมและความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่งต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นในแต่ละบริบทของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยต้องสามารถอธิบายได้

              4) ให้คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พิจารณาการอนุมัติแผนงาน/โครงการ ต้องเชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ แนวทาง วิธีการที่ปรากฏในแผนระดับท้องถิ่น อาทิ แผนพัฒนาท้องถิ่นหรือแผนสุขภาพชุมชน และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ที่ปรากฏอยู่ในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 ให้เป็นส่วนหนึ่งในแบบคำขอรับการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบหัวข้อการแสดงความเชื่อมโยงกับแผนระดับท้องถิ่น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการอนุมัติโครงการที่ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน หรือซ้ำซ้อนกับการดำเนินการของหน่วยงานอื่น

    2. ข้อเสนอแนะต่อระบบการบริหารงบประมาณการเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายงบประมาณ

              1) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ให้ความรู้ซักซ้อมความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ การเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

              2) ให้กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือเวียนเพื่อเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ ผู้ปฏิบัติ เช่น การเน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติต้องดำเนินการบริหารงบประมาณ การเบิกจ่ายเงินที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับ ระเบียบวิธีปฏิบัติ และชี้ให้เห็นโทษของการทุจริตที่จะได้รับ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์ประเด็นการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นและผลเสียที่จะได้รับ โดยการให้ความรู้ผ่านตัวอย่างการทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดความเกรงกลัวในการกระทำผิด/การทุจริต

              3) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดทำอินโฟกราฟิก โดยนำข้อมูลหรือความรู้ เกี่ยวกับการดำเนินการบริหารจัดการงบประมาณ ตั้งแต่การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การเบิกจ่ายเงิน และการรายงานผลการใช้จ่าย มาสรุปเป็นข้อมูลสารสนเทศในลักษณะของข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย มีขนาดกะทัดรัด ด้วยการประยุกต์ใช้สัญลักษณ์ กราฟ แผนภูมิ ไดอะแกรม แผนที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าใจได้ง่าย และเผยแพร่อินโฟกราฟิกนี้ให้แก่สาธารณะ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณผ่านการสร้าง การรับรู้กระบวนการใช้จ่ายงบประมาณให้แก่สาธารณะ

             4) ให้คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุก (ไม่รอให้เกิดความสงสัย ไม่รอจนเกิดความหวาดระแวง และไม่รอให้ผู้รับสารเข้าใจไปเอง) ให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการทุจริต เมื่อประชาชนได้พบเห็นโครงการในลักษณะเสี่ยงต่อการทุจริต

              5) ให้คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เปิดเผยข้อมูล โครงการที่จะดำเนินการในปีงบประมาณนั้น ๆ ผ่านวิธีการหรือเครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเสียงตามสาย การประชาสัมพันธ์ด้วยป้ายประกาศ เป็นต้น

    3. ข้อเสนอแนะต่อระบบการติดตามและประเมินผลและการรายงานผลการดำเนินโครงการ

              1) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพิ่มข้อมูลการรายงานข้อเท็จจริง เช่น รายการใช้จ่ายงบประมาณ รายละเอียด กิจกรรม เป็นต้น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคส่วนอื่นที่ร่วมเฝ้าระวังการทุจริตในการดำเนินโครงการ มีข้อมูลเพียงพอต่อการกำกับติดตามและการเฝ้าระวัง รวมทั้งกำกับติดตามให้มีการรายงานผลการดำเนินงานตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด

              2) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มระบบการแจ้งเตือนการรายงานการดำเนินโครงการแก่ผู้รับผิดชอบโครงการและผู้กำกับดูแล หรือการเพิ่มช่องทางการรายงานผลการดำเนินงาน ผ่านทางระบบออนไลน์ให้แก่ผู้ดำเนินโครงการเมื่อใกล้ถึงกำหนดการรายงานการดำเนินโครงการ เช่น การเพิ่มสิทธิ ให้ผู้รับผิดชอบโครงการเป็นผู้รายงานผลการดำเนินโครงการโดยตรง โดยไม่ต้องจัดทำข้อมูลเป็นรายงานแบบ กระดาษเพื่อส่งให้กับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ดำเนินโครงการต้องมี การรายงานผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินโครงการทราบถึงความเคลื่อนไหวของการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเป็นปัจจุบันมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลการรายงานการดำเนินโครงการ ควรเปิดเผยให้แก่สาธารณะด้วย

              3) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับปรุงระบบการรายงานผลการดำเนิน แผนงาน โครงการ กิจกรรมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ควรมีการรายงานด้วยภาพถ่าย หรือวิดีทัศน์ภาพ การดำเนินการจริง

              4) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งดการสนับสนุนงบประมาณในกรณีที่ หน่วยงานได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณแล้ว ไม่ดำเนินการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณตามหลักเกณฑ์ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

              5) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดแนวทางที่จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กับโครงการ สามารถร่วมประเมินผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการด้วย โดยต้องสามารถประเมินผลโครงการ ในมุมมองด้านความคุ้มค่า ทั้งนี้ โดยพิจารณาทั้ง 2 มิติ ทั้งมิติด้านการเงิน และมิติเชิงสังคมและความเท่าเทียมกัน ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และสามารถตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นในแต่ละบริบทของพื้นที่ ได้อย่างเหมาะสม และด้านความเสี่ยงต่อการทุจริตได้

             6) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล ผ่านระบบ เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เช่น สื่อออนไลน์สาธารณะ เว็บไซต์ เป็นต้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เงิน หรือทรัพย์สินในกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ข้อมูลโครงการที่จะดำเนินการใน ปีงบประมาณนั้น ข้อมูลการบริหารจัดการโครงการ และข้อมูลการรายงานการติดตามและประเมินผล อย่างครบถ้วน เพื่อเป็นข้อมูลที่จะสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและเฝ้าระวังการ ทุจริตในการดำเนินโครงการ 


มติคณะรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป โดยรับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณไปประกอบการดำเนินการด้วย

 

 

Related