จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 719
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 17 เมษายน 2561
ที่มา/สภาพปัญหา
ด้วยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนกรณีปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน รวมทั้งได้ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้ง ถึงกรณีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการทุจริตของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า การบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะขั้นตอนหรือกระบวนการในการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งปรากฏปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ อาทิ การจัดสรรสิทธิและพื้นที่ในการจำหน่ายนมโรงเรียนให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการที่อาจจะไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม รวมถึงอาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ในกระบวนการจัดซื้อนมโรงเรียน เช่น การแอบอ้างหรือปลอมแปลงเอกสารของผู้ประกอบการแปรรูปนมที่อาจไม่ได้เข้าร่วมโครงการ การเรียกเก็บเงินค่านมโรงเรียนเต็มจำนวนแต่กลับไม่มีการส่งมอบนม เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและเด็กนักเรียนผู้บริโภคนมโรงเรียน
ข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ดังนี้
1. ข้อเสนอต่อรัฐบาล
ให้รัฐบาลพิจารณามอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง เมื่อสิ้นสุดภาคเรียน ทั้งนี้ ในกระบวนการของการวัดผลสัมฤทธิ์หรือผลสำเร็จของโครงการไม่ควรให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติ (Operator) เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด แต่ควรพิจารณากำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลโครงการฯ ในรูปแบบของคณะกรรมการร่วม ซึ่งควรประกอบไปด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐซึ่งมาจากหน่วยงานต่าง ๆ นอกเหนือจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียน ภาคเอกชน เกษตรกร ผู้แทนภาคประชาชนหรือผู้บริโภค ตลอดจนสื่อมวลชน เพื่อให้การตรวจสอบถ่วงดุลมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติมากขึ้น
ในส่วนของการรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนนั้น ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดรูปแบบในการประเมินผลโครงการที่เป็นระบบ และมีความชัดเจน โดยต้องครอบคลุมถึงวิธีการประเมินผล ผู้รับผิดชอบหลัก ผู้ประเมิน ฯลฯ รวมทั้งควรกำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวบรวมและจัดทำการรายงานผลการดำเนินงาน โดยมีการประเมินผลด้วยตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดข้อมูลสถิติ ตลอดจนรายงานปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เสนอคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวิเคราะห์ผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเพื่อให้การดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในทางปฏิบัติมากขึ้น ตลอดจนสามารถสะท้อนให้เห็นว่าเด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสมอย่างแท้จริง
2. ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย
2.1 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพิจารณาให้มีการทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทั้งระบบ โดยปรับปรุงให้มีความเป็นปัจจุบัน เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างและโอกาสในการทุจริตของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กนักเรียนและเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดสรรสิทธิในการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อลดการผูกขาด และให้มีการทบทวนบทบาทของหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติหน้าที่สองบทบาทในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ ในการศึกษาและทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนนั้น ควรกำหนดลำดับความสำคัญและกรอบในการวิเคราะห์ให้ชัดเจน เนื่องจากผลลัพธ์ (Outcome) ของแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน วิธีการบริหารจัดการอาจจะไม่เหมือนกัน เช่น การส่งเสริมหรือช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม การส่งเสริมการผลิตนมในระบบอุตสาหกรรมนม หรือการให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ เป็นต้น
2.2 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อผู้ประกอบการ ผลการดำเนินงานในแต่ละภาคเรียนของผู้ประกอบการ สถิติการทำผิดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด สถิติตัวเลขของการผิดสัญญาและเบี้ยปรับของผู้ประกอบการในแต่ละภาคเรียน รวมทั้งควรศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ว่ามีการจ้างให้บริษัทอื่นผลิตนมแทนตนเอง โดยที่โรงงานที่รับจ้างนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานหรือผลิตนมโรงเรียนหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการและบทลงโทษ รวมทั้งการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการในภาคเรียนถัดไป
2.3 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขและเพิ่มอัตราโทษของความผิดตามประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน รวมถึงกฎหมายและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยมีการกำหนดบทลงโทษให้ครอบคลุมทุกกระบวนการ
2.4 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษากระบวนการจัดซื้อนมโรงเรียนโดยให้โรงเรียนเป็นผู้สั่งซื้อได้โดยตรงผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ระบบการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding) เพื่อเป็นการลดปัญหาเรื่องคุณภาพนมที่เกิดขึ้นจากการจัดซื้อนมโรงเรียนผ่านตัวกลาง ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการจัดซื้อ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนแต่ละแห่ง จะต้องมีการจัดทำรายละเอียดข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง หรือ Term of reference (TOR) ให้มีความชัดเจนและครอบคลุม เพื่อให้สามารถจัดซื้อนมโรงเรียนได้ตรงตามความต้องการ และลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉพาะการขนส่งและการตรวจรับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งนมโรงเรียนที่มีคุณภาพและส่งถึงมือเด็กนักเรียนตามระยะเวลาที่กำหนด
2.5 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) โดยกำหนดให้หน่วยงานที่ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน เช่น กรมปศุสัตว์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) แทนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงนโยบายไปสู่หน่วยปฏิบัติ และลดความเสี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและเป็นหน่วยปฏิบัติ (Operator) ในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ควรมีการพิจารณาทบทวนและปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานชุดต่าง ๆ ภายใต้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) ให้มีความเหมาะสม เช่น คณะอนุกรรมการที่มีหน้าที่ในการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียน ไม่ควรมีตัวแทนของฝ่ายผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปเป็นอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ กำกับดูแลการดำเนินงาน หรือคุณภาพของนมโรงเรียน ไม่ควรเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเพียงฝ่ายเดียว เป็นต้น และควรมีการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) โดยมุ่งเน้นให้มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบาย แต่ไม่ควรมีอำนาจในการจัดสรรสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียนให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อป้องกันปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม
2.6 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เรื่อง การบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน อย่างเคร่งครัด รวมทั้งควรมีการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายในการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของนมโรงเรียนเป็นระยะ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
3. ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
3.1 อ.ส.ค. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ควรมีการบูรณาการฐานข้อมูลในการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยรวบรวมปรับปรุงฐานข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องปริมาณน้ำนมดิบ จำนวนนักเรียน จำนวนโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ รายชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน การรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ต่าง ๆ รวมทั้งผลการดำเนินโครงการฯ ให้มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนได้รวดเร็วในแต่ละภาคการศึกษา ทั้งนี้ การพิจารณาจัดสรรสิทธิให้แก่ผู้ประกอบการนั้น ควรคำนึงถึงระยะทางในการขนส่งนมให้มีความเหมาะสมกับที่ตั้งของโรงเรียนและโรงงานผลิตนม เพื่อลดปัญหาในเรื่องคุณภาพนมโรงเรียน โดยให้คำนึงถึงความสามารถในการผลิตและการรับซื้อน้ำนมดิบประกอบด้วย
3.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน ต้องให้ความสำคัญและเข้มงวดในขั้นตอนการส่งมอบและรับมอบนมโรงเรียน เนื่องจาก อ.ส.ค. ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ได้มอบอำนาจให้ผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นผู้ปฏิบัติแทน จึงมีโอกาสที่จะเกิดการสมยอมการเสนอราคา (ฮั้ว) หรือร่วมมือกันทุจริตระหว่างหน่วยจัดซื้อกับผู้ประกอบการได้
3.3 ในส่วนของการแก้ไขปัญหาการทุจริตและคุณภาพนมโรงเรียนในระดับพื้นที่หรือระดับจังหวัด ควรพิจารณาให้ อปท. และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเป็นผู้ประสานงานในด้านต่าง ๆ เช่น ให้มีเจ้าหน้าที่จาก อปท. หรือวิทยาลัยชุมชนต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการช่วยเหลือ กำกับดูแล และตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ และเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเฝ้าระวังตนเองอีกทางหนึ่ง เป็นต้น
4. ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่หน้าที่ในการกำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบ
4.1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ขั้นตอนต้นทาง คือ การทำสัญญาระหว่างหน่วยจัดซื้อกับผู้ประกอบการ (ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก อ.ส.ค.) จนถึงขั้นตอนปลายทาง คือ การขนส่งนมไปยังโรงเรียน หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม โดยเฉพาะในขั้นตอนของการขนส่งนมโรงเรียน จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพนมโรงเรียนได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียน โดยเฉพาะขั้นตอนในส่วนที่เป็นปลายน้ำ คือ การตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์นม ณ โรงงานผลิตนม และการตรวจสอบ ณ หน่วยตรวจรับนมโรงเรียน เช่น สถานศึกษาและ อปท. ควรเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคประชาชนหรือผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพของนมโรงเรียนและปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ในโครงการฯ
4.2 ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต พิจารณาให้มีการจัดชุดเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนในแต่ละพื้นที่ โดยต้องมีการประสานความร่วมมือเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการทุจริตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
4.3 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ.ส.ค. สถานศึกษา และ อปท. เพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าในการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หลักเกณฑ์และกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนพื้นที่การจัดส่งนมโรงเรียน และรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร รวมทั้งทางเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบพื้นที่และรายชื่อของผู้ประกอบการ ความคืบหน้าในการดำเนินการ และร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองได้
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 รับทราบรายงานสรุปข้อมูล ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย
ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอผลการพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 รับทราบผลการพิจารณาข้อเสนอแนะฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 [เรื่อง การบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน] การจัดทำฐานข้อมูลในการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน การให้ความสำคัญและเข้มงวดในขั้นตอนการส่งมอบและรับมอบนมโรงเรียน การปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม และการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ผ่านทางเว็บไซต์ เป็นต้น รวมทั้งประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับไปดำเนินการ เช่น การทบทวนระยะเวลาในการจัดทำบันทึกข้อตกลงการซื้อขายน้ำนมดิบ (MOU) ให้สอดคล้องกับระยะเวลาการพิจารณาจัดสรรสิทธิและการจำหน่ายนมโรงเรียน การมอบหมายหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการ การศึกษารายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างอย่างรอบคอบและครอบคลุมทุกประเด็น และการจัดทำแผนการปฏิบัติงานการบูรณาการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นต้น ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการพิจารณาดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม