Contrast
Font
88fc72bae7580255bdb997fa7e651b99.jpg

ป.ป.ช. จัดอบรมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพวิทยากรตัวคูณ ขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง (ครั้งที่ 1)

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 190

06/02/2568

ป.ป.ช. จัดอบรมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพวิทยากรตัวคูณ ขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง (ครั้งที่ 1)

 

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักต้านทุจริตศึกษา จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพวิทยากรตัวคูณ ขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง (ครั้งที่ 1) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายใต้โครงการวิทยากรตัวคูณขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง โดยมี นางวาธินี  สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธี และนางสวรรยา  รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา เป็นผู้กล่าวกรายงาน ณ โรงแรม ทีเค พาเลช แอนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

 

วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดองค์ความรู้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบน ของวิทยากรตัวคูณ รวมทั้งวิทยากรตัวคูณที่ผ่านการอบรมมีการนำองค์ความรู้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบนไปขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการบูรณาการขยายผลการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบน โดยบุคลากรวิทยากรตัวคูณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางในการขยายผลของวิทยากรตัวคูณ สู่การดำเนินการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

นางวาธินี  สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา มีความสำคัญต่อการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่เป็นเครื่องมือการพัฒนาคน เน้นการปรับพฤติกรรม “คน” ทุกกลุ่มในสังคม โดยกลุ่มเด็กและเยาวชน เน้นการปลูกฝังและหล่อหลอมให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตผ่านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับทั้งทฤษฎีและปฏิบัติตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา กลุ่มประชาชนทั่วไป เน้นการสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมสุจริต มีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ดี ควบคู่กับส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

 

การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา จึงถือเป็นนโยบายและเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการทุจริต โดยอาศัยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน เพื่อนำไปสู่ “การขยายผล” กล่าวคือ ที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการสร้างวิทยากรตัวคูณในการปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายวิทยากรตัวคูณในทุกภาคส่วน และครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ช. เล็งเห็นความสำคัญของวิทยากรตัวคูณในฐานะของ “ผู้นำทางความคิด” ที่จะสามารถนำองค์ความรู้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาขยายผลต่อไปสู่เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งในรูปแบบของการอบรมบ่มนิสัยของผู้ปกครองในระดับครอบครัว การจัดการเรียนการสอนของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา การจัดอบรมของหน่วยงานหรือองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ของคนในสังคม สู่ความเป็นพลเมืองที่ไม่ทำ ไม่ทน และไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมทุกรูปแบบ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดองค์ความรู้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบน ของวิทยากรตัวคูณที่ผ่านการอบรมให้สามารถนำไปขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสมต่อไป

 

ด้าน นางสวรรยา  รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพวิทยากรตัวคูณขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง (ครั้งที่ 1) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายใต้โครงการวิทยากรตัวคูณขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง ที่จัดขึ้นครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) กระทรวง และกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ ผู้แทนคณะกรรมการชุมชนของกรุงเทพมหานคร รวมจำนวนผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 177 คน

โดยภายในงานมีกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะวิทยากรตัวคูณ ดังนี้

- การบรรยาย หัวข้อ “การปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม และการป้องกันปัญหาสินบน สู่การสร้างองค์กร/ชุมชนต้านโกง” โดยนายอุทิศ  บัวศรี อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

- การอภิปรายแบ่งกลุ่มปฏิบัติการ และการอภิปรายสรุปผลการนำเสนอ ในหัวข้อ ดังนี้

  1. การประยุกต์หลักโมเดล STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต สร้างองค์กร/ชุมชนต้านโกง
  2. ความอาย และไม่ทนต่อการทุจริต ยกระดับสู่ความเป็นองค์กร/ชุมชนต้านโกง
  3. แนวทางการขยายผลองค์ความรู้ต้านทุจริตศึกษาสู่องค์กร/ชุมชน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ

 

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพวิทยากรตัวคูณขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง (ครั้งที่ 1) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิทยากรตัวคูณจะมีทักษะ และมีประสิทธิภาพในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมขยายผลต่อไปสู่เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทุกกลุ่มในสังคม พร้อมทั้งเป็นกำลังเครือข่ายที่สำคัญในการสร้างให้เกิดสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย ยกระดับคุณธรรม จริยธรรมของคนไทย และขับเคลื่อนสังคมโปร่งใสให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

Related