จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 16
วันที่ 10 - 11 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วม ต้านทุจริต จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อต้านและลดทุจริตในพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 (จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรี) ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG: Together against Corruption-TaC) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำปัญหาการทุจริตหรือประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตตามฐานข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. มาพัฒนาสู่การป้องกันการทุจริตตามกระบวนการของสำนักงาน ป.ป.ช. ผ่านการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและการกำหนดแนวทางเฝ้าระวังการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรี จำนวนกว่า 110 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรม ราชศุภมิตร (R.S. Hotel) อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
--
สำหรับพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยตรีศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวมอบนโยบายเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด โดยมีนายอภินันท์ ศิวิโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วม 3 สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. กล่าววัตถุประสงค์การจัดประชุม
--
การประชุมวันแรก ในภาคเช้าเป็นการอภิปราย หัวข้อ “กลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ร่วมอภิปรายโดย นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ สปท. นายธีรพงษ์ บุญทองล้วน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 8 นายวิเชษฐ จินานุรักษ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเชียงรากน้อย และ ผศ. ดร. กิติชัย รัตนะ อาจารย์ประจำภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นภาคบ่าย เป็นการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ หัวข้อ “การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างแนวทางต้านและลดทุจริตของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการมีส่วนร่วมเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนกลไกสหยุทธ์ในการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรี” โดยมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันพัฒนาลุ่มน้ำ และคณะเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม
--
การประชุมวันที่สอง ในภาคเช้าเป็นการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติต่อเนื่องจากภาคบ่ายของวันแรก จากนั้นในภาคบ่าย ผู้แทนของแต่ละกลุ่มดำเนินการนำเสนอสรุปผลการถอดบทเรียนกิจกรรมและการนำเสนอแนวทางต้านและลดทุจริตของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการมีส่วนร่วมเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนกลไกสหยุทธ์ในการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรี และการริเริ่มกิจกรรมในพื้นที่ปฏิบัติการนำร่อง รวมถึงการแสดงความคิดเห็น โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันพัฒนาลุ่มน้ำ เป็นวิทยากรประจำกลุ่ม และตอบปัญหาข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมประชุม