Contrast
Font
e45c6bafcb5caf08175cdd2e5c18481f.png

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณเงินอุดหนุนวัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 1416

30/10/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 28 ตุลาคม 2563

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

          ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและข้อมูลจากสื่อมวลชน กรณีการตรวจสอบพบการทุจริตงบประมาณเงินอุดหนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยงบประมาณประเภทเงินอุดหนุน 3 ประเภท ได้แก่ งบประมาณเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด งบประมาณเงินอุดหนุนการส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา และงบประมาณเงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยพบพฤติการณ์/รูปแบบการกระทำทุจริตโดยสังเขป คือ กรณีงบประมาณเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด และงบประมาณเงินอุดหนุนโครงการ/กิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีการตรวจพบเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีการประสานเจ้าอาวาสวัดในแต่ละพื้นที่เพื่อเสนองบประมาณ โดยให้วัดทำเอกสารพร้อมเสนอจำนวนเงินที่ต้องการขอรับการจัดสรร ซึ่งในขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณนั้น จะมีทั้งส่วนในการทำคำขอและไม่มีการทำคำขอ และไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดสรรที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด เมื่อสำนักงบประมาณมีการอนุมัติงบประมาณเงินอุดหนุนแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะโอนเงินงบประมาณไปให้วัด แต่เมื่อวัดได้รับเงินแล้ว จะมีการโอนเงินให้บุคคลใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่หรือโอนให้เจ้าหน้าที่ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีลักษณะเป็นเงินทอนคืนบางส่วนหรือทั้งหมด และในขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน พบว่า มีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ได้รับ วิธีการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีสัญญาจ้างเหมา และไม่มีการทำหลักฐานการตรวจสอบ ส่วนกรณีงบประมาณเงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม พบว่า อาจมีความเสี่ยงในการแจ้งข้อมูลเท็จของโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา โดยจะแจ้งยอดนักเรียนสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อจะได้รับงบประมาณอุดหนุนรายหัวจากภาครัฐมากขึ้น และกรณีของบประมาณอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนปริยัติธรรม โดยที่ไม่มีการเปิดสอนโรงเรียนดังกล่าว

          จากการศึกษาพฤติการณ์/รูปแบบการทุจริต รวมทั้งข้อกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเงินอุดหนุนวัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่า กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง สามารถเปิดช่องและเอื้อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และเจ้าอาวาสในฐานะผู้แทนของวัด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ไม่มีความรู้เพียงพอในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดิน ทำให้บุคคลบางกลุ่มใช้วัดเป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงในการทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำคำขอและจัดสรรงบประมาณ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณโครงการ และการติดตามและประเมินผลโครงการ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างความโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

          ปัญหาการทุจริตงบประมาณเงินอุดหนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินทอนที่ทำให้งบประมาณของภาครัฐเกิดการรั่วไหล และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไป ตามวัตถุประสงค์ เพื่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของแผ่นดิน และกระทบต่อความศรัทธาของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรกำหนดให้มีมาตรการหรือ ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณเงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ตามความมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
 

ข้อเสนอแนะ

          เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตงบประมาณเงินอุดหนุน ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตงบประมาณเงินอุดหนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี ตามความมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูล

    รัฐบาลควรกำหนดให้การบูรณาการและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดทำฐานข้อมูลของวัดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในการจัดทำฐานข้อมูลของวัด โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะต้องมีระบบฐานข้อมูลกลาง โดยจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของวัดที่จำเป็น รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณการบริหารงบประมาณ การติดตามและประเมินผล และนำข้อมูลเดิมที่อยู่ในรูปแบบกระดาษมาจัดทำเป็นข้อมูลรูปแบบดิจิทัลในฐานข้อมูลกลาง ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรจัดทำระบบสารสนเทศรองรับการใช้งานข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางในรูปแบบ Web – Base Technology หรือ Mobile Application ที่ผู้ใช้งานสามารถปฏิบัติงานและเรียกดูข้อมูลบน Web Browser หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ มีการรายงานข้อมูลแบบ Real – Time และจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

    2. ด้านกระบวนการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณ

    2.1 ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณ ด้านการก่อสร้างการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด เป็นงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

    2.2 กรณีงบประมาณงบเงินอุดหนุนประเภทอื่น เช่น เงินอุดหนุนการส่งเสริมเผยแผ่ พระพุทธศาสนา เงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม และเงินอุดหนุนอื่น ๆ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำหลักเกณฑ์การขอรับและการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีส่วนร่วมและเป็นธรรม สามารถวัดผลได้ในเชิงปริมาณ โดยจัดทำเป็นระเบียบหรือประกาศที่เป็นทางการ พร้อมประกาศให้สาธารณชนรับทราบ

    2.3 ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติปรับปรุงคณะกรรมการ/คณะทำงานพิจารณาคำขอและการจัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุนทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค โดยเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการ/คณะทำงานจากภายนอก ประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ผู้แทนคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีงบประมาณเงินอุดหนุนให้กับวัด เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งนักวิชาการด้านการบริหารจัดการ และด้านการศาสนา และอื่น ๆ ตามความเหมาะสม โดยมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาคำขอและการจัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน การจัดทำแผนบูรณาการด้านงบประมาณเงินอุดหนุนวัด ทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค การระดมสรรพกำลังในการจัดทำฐานข้อมูลต่าง ๆ ของวัดที่สำคัญ เช่น ข้อมูลพื้นฐานและความจำเป็นของวัด ข้อมูลการอุดหนุนงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ข้อมูลฐานะการเงินและรายรับ - รายจ่ายของวัด ข้อมูลศาสนสถาน ข้อมูลโรงเรียนพระปริยัติธรรม ข้อมูลจำนวนพระภิกษุ - สามเณร เป็นต้น และการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการเบิกจ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน รวมทั้งการประเมินศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวัดด้วย

    2.4 การจัดทำคำขอและการพิจารณางบประมาณงบเงินอุดหนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและฐานข้อมูลจริง รวมทั้งให้พิจารณาจากข้อมูลฐานะการเงินและรายรับ – รายจ่ายของวัดประกอบด้วย และให้มีการประมาณรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการที่จะขอรับงบประมาณให้ชัดเจน

    3. ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ

    3.1 ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประสานงานและสนับสนุนให้วัดหรือผู้ได้รับงบประมาณงบเงินอุดหนุน จะต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน และในการใช้จ่ายงบเงินอุดหนุนของวัดไม่ควรเบิกจ่ายล่วงหน้าก่อนมีแผนการใช้จ่ายเงิน และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติของกระทรวงการคลัง เรื่อง การเบิกจ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการจัดเก็บเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ

    ทั้งนี้ ให้มีการรายงานผลการเบิกจ่ายและใช้งบประมาณงบเงินอุดหนุนตามแนวทางที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินตามหน้าที่
    และอำนาจเกี่ยวกับบัญชีรายรับ – รายจ่ายของวัด ตามกฎกระทรวงและมติมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

    3.2 เพื่อให้การดำเนินการตามข้อ 3.1 เกิดประสิทธิผลและถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ เห็นควรให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับกรมบัญชีกลาง จัดทำคู่มือ/แนวทางปฏิบัติในการใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมมีการให้คำแนะนำ/ความรู้แก่วัดและผู้ได้งบประมาณงบเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

    4. ด้านการติดตามและประเมินผล

    สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ติดตามและการประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน เพื่อให้เป็นไปตามแผนงาน/โครงการ วัตถุประสงค์ และงบประมาณที่ได้รับ ทั้งนี้ อาจมีการบูรณาการกับหน่วยงานด้านการตรวจสอบและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เป็นต้น เพื่อร่วมกันติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน พร้อมการเปิดเผยรายงานผลการติดตามและประเมินผลของโครงการต่อสาธารณะ

    5. ด้านการแจ้งเบาะแส

    5.1 ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรเป็นหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริต ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2553

    5.2 กำหนดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์จากพระภิกษุ และประชาชน และควรกำหนดกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ให้ชัดเจน และมีความรวดเร็ว

 

มติคณะรัฐมนตรี

        คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณเงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะฯ ดังกล่าว ไปพิจารณาดำเนินการ โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

ความเห็นของหน่วยงาน :

ความเห็นของสำนักงบประมาณ

 

Related